หัวขับลม (Pneumatic Actuator)
ในบางที่อาจเรียกว่า หัวขับวาล์วหรือหัวขับนิวเมติกส์ มีหน้าที่เปิด-ปิดวาล์ว โดยใช้แรงดันลมในการขับเคลื่อนลูกสูบและส่งต่อการทำงานไปที่วาล์วที่ทำการประกอบเข้าด้วยกัน เช่น บอลวาล์ว(Ball valve) , วาล์วผีเสื้อ(Butterfly valve) ฯลฯ โดยมากวาล์วที่มาประกอบด้วยต้องเป็นวาล์วที่เปิดปิดโดยอาศัยการหมุนแบบ 90 องศา
ข้อดีของหัวขับลม
- สามารถใช้เปิด-ปิดวาล์วพร้อมกันหลายๆตัวได้ จึงเหมาะกับสถานที่ที่มีวาล์วหลายๆตัวเช่น โรงงาน
- สามารถใช้เปิด-ปิดวาล์วที่อยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการเข้าถึงได้
- มีราคาถูกกว่าหัวขับไฟฟ้า
ประเภทของหัวขับลม (Pneumatic Actuator)
จะแบ่งประเภทจากการทำงานของหัวขับลมเป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. หัวขับลมแบบ Single Acting Pneumatic Actuator
หรืออีกชื่อหนึ่งคือ หัวขับลมแบบสปริงรีเทิร์น (Spring Return) ซึ่งการทำงานของหัวขับประเภทนี้จะทำงานโดยการจ่ายลมเพียงข้างเดียวเพื่อให้วาล์วเปิดหรือปิด และเมื่อเดรนลมออกสปริงจะเด้งลูกสูบหัวขับกลับ ส่งผลให้วาล์วปิดหรือเปิด
- ข้อดีของหัวขับลมแบบ Single Acting คือ เมื่อมีเหตุผิดพลาดในระบบการจ่ายลมหรือระบบไฟฟ้า หัวขับจะมีสปริงที่ยังช่วยให้วาล์วสามารถกลับมาปิดหรือเปิดได้
- ข้อเสียคือ หัวขับลมแบบ Single Acting จะมีราคาที่สูงกว่าหัวขับลมแบบ Double Acting
2. หัวขับลมแบบ Double Acting Pneumatic Actuator
จะแตกต่างจากหัวขับประเภท Single Acting ตรงที่หัวขับประเภทนี้จะอาศัยแรงดันลมเพียงอย่างเดียวในการเปิดและการปิดวาล์ว
- ข้อดีคือ มีราคาถูกกว่าหัวขับลมประเภท Single Acting
- ข้อเสียคือ เมื่อมีเหตุผิดพลาดในระบบการจ่ายลมหรือระบบไฟฟ้า หัวขับประเภทนี้จะหยุดทำงานทันทีส่งผลให้วาล์วค้างอยู่ในตำแหน่งล่าสุดที่ทำงานไม่สามารถเปิดหรือปิดได้
